แนวทางกักตัวแบบ Home Isolation ดูแลผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ที่บ้าน
ในเวลานี้ ประเทศไทยประสบวิกฤตการขาดแคลนเตียงผู้ป่วย แม้แต่ห้องไอซียูก็ไม่เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการขั้นรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างรอเตียงมากมาย
จนขณะนี้หลังจากตรวจและพบผู้ติดเชื้อเป็นผู้ป่วยที่ต้องแยกกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นจำนวนมาก เพราะอัตราการครองเตียงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน หรือ 1 เดือนที่แล้ว อัตราการครองเตียง 19,629 เตียง วันนี้อัตราการครองเตียงอยู่ที่ 30,631 เตียง แปลว่า 1 เดือนผ่านไปอัตราการครองเตียงเพิ่มขึ้น 10,000 เตียง โดยเฉพาะเตียง ICU ที่เดือนที่แล้วมีอัตราการครองเตียง 714 เตียง มาวันนี้เพิ่มเป็น 1,206 เตียง เพิ่มมาเกือบเท่าตัว เพราะฉะนั้นบุคลากรที่อยู่หน้างานแบกรับตรงนี้หนักจริง ๆ
วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ในงานแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์กระทรวงสาธารณสุข ว่า “ขอย้ำว่า เราไม่ได้อยากให้มีการดำเนินการตามแนวทางนี้ เนื่องจากจะมีผลเสีย 2 อย่าง ข้อแรก กรณีอยู่บ้านคนเดียว หากสุขภาพแย่ลง และไม่มีคนดูแล ไม่มีใครทราบ อาจเกิดอันตรายและเสี่ยงเสียชีวิต ข้อที่สอง เป็นผลเสียต่อชุมชน จากการทบทวนในต่างประเทศ ซึ่งตั้งแต่การระบาดรอบแรกมีหลายประเทศใช้วิธีนี้ อย่างอังกฤษ พบว่า ผลการแยกกักตัวที่บ้านไม่ได้ 100% ทำให้มีการแพร่เชื้อไปสู่ครอบครัว หรือออกมาซื้ออาหารก็อาจแพร่เชื้อไปยังชุมชน”
แนวทาง Home Isolation และ Community Isolation เป็นทางที่ชัดเจนตอนนี้ คือการนำผู้ป่วยสีเขียวตามเกณฑ์ที่กำหนดมาเข้าสู่ระบบแยกกักตัว สิ่งสำคัญคือการพยายามหาสถานที่รองรับที่เหมาะสม ถ้าบ้านใครสามารถแยกกักตัวได้ มีการแยกห้องนอนก็ถือว่าดีที่สุด แต่ถ้าเป็น Community จะใช้จุดแข็งของประเทศไทยที่เรียกว่า ‘บวร’ คือ บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งตอนนี้มีหลายแห่งเริ่มทำไปแล้ว โดยให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำ และที่สำคัญคือเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ป่วยด้วย
สำหรับเกณฑ์การพิจารณาผู้ป่วยที่จะทำ Home Isolation ประกอบไปด้วย 7 หลักเกณฑ์ คือ
1. เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ
2. มีอายุไม่เกิน 60 ปี
3. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
4. อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
5. ไม่มีภาวะอ้วน
6. ไม่มีโรคร่วม เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคไตเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคหลอดเลือดสมอง, เบาหวานที่คุมไม่ได้
7. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง
เมื่อผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ยินยอมที่จะเข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation การแยกกักตัวที่บ้าน อยู่คนเดียว ไม่มีคนดู จะมีช่องทางติดตามผู้ป่วยโดยสื่อสารทุกวันผ่านวิดีโอคอล แพทย์พยาบาลจะคุยกับคนไข้วันละ 2 ครั้ง มีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน สถานพยาบาล เดิมเป็นโรงพยาบาล แต่จะขยายเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นให้มีการลงทะเบียน
ส่วนการเอ็กซเรย์ปอดวันแรก ๆ จะยังไม่ทำ แต่จะมีการแจกที่วัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนในกระแสเลือดเป็นเครื่องวัดบริเวณนิ้วมือ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการลุกนั่งออกกำลังกาย 1 นาที ก่อนทำจะมีการวัดออกซิเจน หลังออกกำลังกายเสร็จจะวัดอีกครั้งหนึ่ง หากค่าออกซิเจนในกระแสเลือดลดลงกว่า 3% ก็จะต้องมาโรงพยาบาล นอกเหนือจากนี้จะมีการจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตัวเองติดเชื้อ และยังไม่มีหน่วยงานใดรับ และคิดว่าจะเข้าเกณฑ์นี้ให้ติดต่อสอบถาม 1330 จะมีกระบวนการสอบถามซักประวัติ และดำเนินการอื่น ๆ ต่อไป ขณะนี้ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ น่าจะขึ้นไป 400-500 รายแล้ว ขอให้ทุกคนหมั่นสังเกตอาการตัวเอง เพื่อป้องกันก่อนจะสายเกินไป เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน