ข้อควรรู้ในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป
การฉีดไฟเซอร์ให้นักเรียนอายุ 12-18 ปี ที่เริ่มในวันที่ 4 ตุลาคม นี้ กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า มีผู้ปกครองแสดงความประสงค์ให้บุตรหลานฉีดวัคซีนไฟเซอร์กว่า 3.6 ล้านราย จากนักเรียนกว่า 5 ล้านรายทั่วประเทศ
วัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ (Pfizer) เป็นวัคซีนชนิด mRNA เป็น 1 ใน 2 ยี่ห้อ ที่ได้รับการอนุมัติใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งในขณะนี้ไฟเซอร์เป็นเพียงยี่ห้อเดียวที่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย
จำนวนการฉีดและระยะห่าง
กรมควบคุมโรค ระบุว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ฉีดจำนวน 2 เข็ม ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์
กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ยังไม่อยู่ในเกณฑ์การรับวัคซีน ข้อแนะนำคือใช้มาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง หากดำเนินการได้ดีก็ยังสามารถทำกิจกรรมการเรียนการสอนได้
ประสิทธิภาพในการป้องกัน
วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการ เมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพการป้องกันในผู้ใหญ่
ส่วนการป้องกันเชื้อไวรัสทั้งในแง่สายพันธุ์และความรุนแรงหลังจากฉีดไฟเซอร์ เข็มที่ 1 และ 2 พบว่าประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 36% หลังฉีดเข็มที่หนึ่ง และ 88% หลังฉีดเข็มที่สอง
นอกจากนี้ยังป้องกันการติดโควิดที่อาการรุนแรงต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล 94% หลังฉีดเข็มที่ 1 และ 96% หลังฉีดเข็มที่ 2
ติดตามเฝ้าระวังอาการ
การเฝ้าระวังอาการแพ้รุนแรงช่วง 30 นาทีแรกหลังฉีด และให้มีการติดตามอาการต่อเนื่องอีก 30 วัน กรณีข้อกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ นพ.เฉวตสรร จากกรมควบคุมโรค บอกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ว่าอัตราการเกิดต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ขอให้สังเกตอาการ ดังนี้
- แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก
- หอบเหนื่อยง่าย
- ใจสั่น
- หมดสติ เป็นลม หรือรู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ
หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบมารับการรักษา เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเกิดจากภาวะอื่นได้ แต่โดยส่วนใหญ่เกือบ 100% อาการไม่รุนเรง มักพบใน 2-3 วันแรก และไม่เกิน 7 วัน
คำแนะนำหลังฉีด
ข้อปฏิบัติภายใน 7 วันหลังฉีดวัคซีนทั้งเข็มที่ 1 และ 2 ควรงดออกกำลังกายและกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งสัมพันธ์กับรายงานการเกิดผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
ภาวะนี้แม้จะพบในอัตราที่ต่ำ แต่เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน ช่วงระยะเวลาติดตามอาการ หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหรือหายใจไม่อิ่ม ใจสั่นหน้ามืดเป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์ และหากแพทย์สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และพิจารณาตรวจค้นเพิ่มเติม
ข้อมูลจาก : กรมควบคุม , BBC